Line ID: 0863399940



 

 ข้อมูลทั่วไปของประเทศกัมพูชา


ชื่อทางการ : ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)
เมืองหลวง : พนมเปญ (Phnom Penh)
ศาสนาประจำชาติ : ศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกลำดวน (Rumdul)
วันชาติ : 9 พฤศจิกายน
วันที่เป็นสมาชิกอาเซียน : 30 เมษายน พ.ศ.2542
ภาษาใช้ทั่วไป : อังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน และไทย
ภาษาราชการ : ภาษาเขมร
ธงชาติ : มีความหมายที่สะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งได้แก่ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ซึ่งทำให้มีลักษณะของธงชาติที่สื่อถึงความหมายได้ตรงและเหมือนกับธงชาติไทย ไม่แตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย เพราะสื่อความหมายด้วย 3 สีที่สะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศเช่นเดียวกัน โดยสามารถแยกความหมายจากพื้นสีต่าง ๆ บนตัวธงชาติออกมาได้ดังนี้
1. สีแดง หมายถึง ชาติ
2. สีขาว หรือ ปราสาทนครวัด หมายถึง สันติภาพและศาสนาซึ่งศาสนาของราชอาณาจักรกัมพูชานั้น เดิมมีรากเหง้ามาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นพระพุทธศาสนาจวบจนถึงปัจจุบัน
3. สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา

ตราแผ่นดิน : เป็นรูปฉลองพระองค์ครุยคลุมพานแว่นฟ้า อัญเชิญพระแสงขรรค์และเครื่องหมายอุณาโลมภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมี มีลายช่อต่อออกมาจากกรรเจียกจรทั้งสองข้าง
ความหมายของสัญลักษณ์ในดวงตรามีดังต่อไปนี้
1. รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระมหามงกุฎ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมเขมร
2. ฉัตร 5 ชั้นทั้งสองคัน หมายถึง พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี
3. พระแสงขรรค์ หมายถึง พระราชอำนาจและความยุติธรรม
4. ราชสิห์และคชสีห์ หมายถึง ปวงชนชาวกัมพูชาผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์
ชุดประจำชาติของกัมพูชา
คือ ซัมปอต (Sampot) หรือผ้านุ่งกัมพูชา ทอด้วยมือ มีทั้งแบบหลวมและแบบพอดี คาดทับเสื้อบริเวณเอว ผ้าที่ใช้มักทำจากไหมหรือฝ้าย หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ซัมปอตสำหรับผู้หญิงมีความคล้ายคลึงกับผ้านุ่งของประเทศลาวและไทย ทั้งนี้ ซัมปอดมีหลายแบบซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนชั้นทางสังคมของชาวกัมพูชา ถ้าใช้ในชีวิตประจำวันจะใช้วัสดุราคาไม่สูง ซึ่งจะส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น นิยมทำลวดลายตามขวาง ถ้าเป็นชนิดหรูหราจะทอด้ายเงินและด้ายทอง

 ประวัติความเป็นมาของประเทศกัมพูชา

ประวัติศาสตร์กัมพูชา เริ่มต้นที่ยุคของอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละ พัฒนามาสู่กัมพูชายุคเมืองพระนคร ซึ่งมีความยิ่งใหญ่จนสามารถสร้างนครวัด นครธม เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่อยุธยาจึงต้องเสียเมืองบางส่วนให้อยุธยา จนเมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจในอินโดจีน กัมพูชากลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลก กัมพูชาได้เป็นประเทศเอกราช แต่เกิดความสับสนวุ่นวายภายในประเทศเนื่องจากความขัดแย้งภายใน ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงอยู่ระยะหนึ่ง จนกองกำลังของเฮง สัมริน ที่มีเวียดนามหนุนหลังเข้ามาขับไล่เขมรแดงออกไป และการเข้ามาไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติ เพื่อยุติสงครามกลางเมือง
จุดเริ่มต้นอาณาจักรเขมร
• ค.ศ. 57-500 (พ.ศ. 600-1043) อาณาจักรฟูนัน ต้นกำเนิดเขมรโบราณ
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายยืนยันว่าแผ่นดินนี้มีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่ 4,200 ปีก่อนคริสตกาล มีวิวัฒนาการที่ล้ากว่าดินแดนอื่นในภูมิภาคนี้หลายประการ เช่น รู้จักปลูกข้าว มีระบบชลประทานและมีเครื่องมือสำริด อาณาจักรยุคแรกของเขมรเริ่มนับที่ อาณาจักรฟูนัน ตำนานอาณาจักรฟูนันปรากฏครั้งแรกในบันทึกของข้าราชการจีน รวมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์กัมพูชาที่เกี่ยวกับฟูนันส่วนใหญ่มาจากหลักฐานของชาวจีน อาณาจักรฟูนันมีเมืองหลวงเป็นเมืองท่าทางการค้าอยู่ที่เมือง วยาปุระ ตรงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามในปัจจุบันบรรพบุรุษของอาณาจักรฟูนันนั้นอพยพมาจากอินเดียจึงได้นำวัฒนธรรมการเมืองการปกครองแบบเทวราชและประเพณีตามแบบ พราหมณ์-ฮินดูเข้ามา ความรุ่งเรืองของอาณาจักรฟูนันมาจากการค้าขายเป็นสำคัญอาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรเก่าแก่อันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มเสื่อมสลายลงประมาณ ค.ศ. 500 (พ.ศ.1043) เพราะศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนมาที่ทางเหนือบนดินแดนที่เรียกว่า เจนละ
แยกตัวสร้างอาณาจักรใหม่
• ค.ศ. 550 – 805 (พ.ศ. 1093-1348) ก่อตั้งอาณาจักรเจนละ
ในระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๐-๑๒๕๐ นั้นอาณาจักรขอมมีกษัตริย์ครองราชย์คือ พระเจ้าภววรมันที่ ๒ พระโอรสของพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๒ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ โอรสของพระเจ้าภววรมันที่ ๒ ยุคนี้ได้สร้างศิลปขอมแบบไพรกเมง ขึ้นระหว่างพ.ศ. ๑๑๘๐-๑๒๕๐สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ นั้นอาณาจักรเจนฬา (เจนละ) นั้นได้แตกแยกเป็นพวกเจนละบกคืออยู่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ และพวกเจนละน้ำ อยู่ในดินแดนลาวตอนกลาง พ.ศ. ๑๒๕๐-๑๓๕๐ ยุคนี้ได้มีการสร้างศิลปขอมแบบกำพงพระขึ้น พระเจ้าภรวรมัน กษัตริย์เขมรเชื้อสายฟูนันได้แต่งงานกับเจ้าหญิงเจนละและประกาศตัวไม่ขึ้นกับฟูนัน โดยแยกตัวออกมาสร้างอาณาจักรใหม่ชื่อว่า อาณาจักรเจนละ ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. 550 (พ.ศ. 1093) ได้เข้ายึดเมืองหลวงอาณาจักรฟูนันได้สำเร็จ และแต่งตั้งราชธานีชื่อ อีสานปุระ ต่อมาเกิดการแตกแยก อาณาจักรเจนละถูกแบ่งออกเป็นสองแคว้นใหญ่ คือเจนละบกซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่สูงบริเวณลาวตอนใต้กับเจนละน้ำ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณทะเลสาบเขมร นครอีสานปุระแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของศิลปะเขมรในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องและยาวนาน นอกจากนี้การก่อสร้างด้วยหินที่เรียงตัวกันอย่างซับซ้อนและยิ่งใหญ่นับเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้อาณาจักรเขมรก้าวขึ้นสู่เมืองพระนครในสมัยต่อมา
สถาปนากัมพูชา ก้าวสู่เมืองพระนคร
• ค.ศ. 802 (พ.ศ. 1345) รวมเป็นอาณาจักรกัมพูชา
ก่อนจะสถาปนาพระนครเมืองแห่งนี้ได้เคยมีชาวเขมรอาศัยอยู่ในแถบนี้ก่อนแล้ว โดยยุคนี้เริ่มประมาณพุทธศักราช 1300จนถึงพุทธศักราช 1900 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 นับเป็นปฐมกษัตริย์องค์แรกแห่งอาณาจักรเขมร พระองค์เติบโตและเข้ารับการศึกษาในวังกษัตริย์ไศเลนทร์ในแผ่นดินขวา ความสำคัญของการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 คือการเปลี่ยนอาณาจักรเขมรจากยุคแว่นแคว้นกระจัดกระจายมาสู่ยุคเทวราชาแห่งสมัยพระนคร ได้ก่อตั้งเมืองพระนคร คาดว่าในวัยหนุ่มพระองค์ประทับอยู่ที่ชวาก่อนจะหนีกลับกัมพูชาทรงเป็นผู้รวบรวมอาณาจักรเจนละบุกและเจนละน้ำเข้าด้วยกันได้และเรียกอาณาจักรแห่งนี้ว่า กัมพูชา หรือที่มักเรียกว่าอาณาจักรขอมหรือขแมร์ พระองค์ได้แผ่อำนาจอย่างกว้างขวางไปถึง จีน จามปา มหาสมุทร และดินแดนทางภาคกลางของไทย พระองค์แสดงตนเป็นบุตรพระศิวะเพื่อให้ประชาชนเคารพเฉกเช่นพระเจ้าหรือที่เรียกว่า เทวราชา และทรงตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ชื่อว่า หริหรลัย
• ค.ศ. 877 (พ.ศ. 1420) ระบบการชลประทานแห่งแรก
พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ครองราชย์โดยการยึดอำนาจจากชัยวรมันที่ 3 โอรสของปฐมกษัตริย์แห่งสมัยพระนครพระองค์ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่กษัตริย์รุ่นต่อมาประกอบด้วย
1. การสนับสนุนการชลประทาน เป็นตัวแทนของแผ่นดินในการบูชาทวยเทพแห่งลำน้ำ โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างสระน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่าบาราย ครอบคลุมเนื้อที่ถึง 2.63 ตารางกิโลเมตร ไว้ใช้เก็บน้ำฝนเพื่อเพิ่มผลผลิตนำส่งให้แก่อาณาจักร พร้อมเป็นการแสดงถึงพระราชอำนาจอันไพศาล
2. การยกย่องบิดามารดาบรรพบุรุษ โดยสร้างเทวรูปประจำตัวคนเหล่านั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้สลักเทวรูปเป็นตัวแทนพระบิดา พระมารดารวมทั้งบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ไว้ในเทวาลัย ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อปราสาทเพรียะโคหรือพระโค
3. การก่อสร้างเทวาลัยบนภูเขาให้มีรูปทรงพีระมิดขั้นบันได ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อปราสาททองบากอง เป็นปราสาทหลังแรกที่ใช้หินก่อสร้างมากกว่าอิฐ โดยพระเจ้าอินทรวรมันทรงตั้งใจให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์เองในยามสิ้นพระชนม์
• ค.ศ. 889 (พ.ศ. 1432) เขาพระวิหาร
พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 สร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ชื่อว่ายโสธรปุระ ซึ่งเป็นเมองหลวงของเขมรกว่า 400 ปี และเต็มไปด้วยเทวสถานอังกอร์มากมาย พระเจ้ายโศวรเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง อีกทั้งยังโปรดการก่อสร้างวิหารไว้บนเขาเกือบทุกลูกที่อยู่ใกล้เมืองหลวงและแหล่งที่ขึ้นชื่อมากก็คือ เขาพระวิหาร นั่นเอง นอกจากจะสร้างศาสนสถานและเทวสถานนับร้อยๆแห่งแล้วยังสร้างบารายขึ้นอีกโดยให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 8 เท่า และการเริ่มต้นวางผังเมืองอย่างมีระบบระเบียบ
สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
• ค.ศ. 1113 (พ.ศ. 1656) ปราสาทนครวัด
แม้ว่าขณะนั้นชาวเขมรจะเชื่อเรื่องเทวราช แต่กษัตริย์ในหลายรัชสมัยก็ไม่มีอำนาจเด็ดขาดและอ่อนแอจนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ทำให้ดินแดนเขมรกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งเรียกได้ว่าเป็นกษัตริย์ที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เป็นผู้สร้างศาสนสถานอันยิ่งใหญ่โอฬารที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ในยุคโบราณนั่นคือ ปราสาทนครวัด ขึ้นเพื่อบูชาแด่พระวิษณุเชื่อกันว่าใช้หินที่นำมาสร้างนับล้านก้อน ใช้แรงงานคน แรงงานช้างและหัวหน้างานที่มีประสบการณ์จำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการควบคุมคนและการก่อสร้างของกษัตริย์เขมร จากรูปแกะสลักและสิ่งก่อสร้างล้วนสะท้อนให้เห็นปรากถึงความเป็นเทวราชของกษัตริย์ ซึ่งต่อมานครวัดได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา โดยปรากฏในธงชาติและเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของประเทศ ตลอดจนได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร
• ค.ศ. 1181–1220 (พ.ศ. 1724-1763) นครธม เมืองหลวงแห่งใหม่
หลังจากที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สิ้นพระชนม์ แผ่นดินกัมพูชาก็ตกอยู่ในมือของพวกจามจากเวียดนามอยู่หลายปี จนเกิดวีรบุรุษผู้กล้าลุกขึ้นกอบกู้เอกราชกลับคืนมาและสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์องค์ใหม่พระนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ทรงทุ่มเทในการบูรณะบ้านเมืองในทุกวัน ทรงเป็นกษัตริย์นักก่อสร้างเป็นผู้ยึดหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน จึงพยายามประสานแนวคิดเทวราชาเข้ากับพระพุทธศาสนา โดยแนวคิดของพระองค์คือ กษัตริย์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ผู้จุติลงมาประกอบบุญกุศล ช่วยเหลือราษฎร ดังจะเห็นได้จากพระองค์ทรงสร้างปราสาทต่างๆ มากมายผลงานที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ทรงสร้างคือ นครธม เมืองหลวงแห่งใหม่พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตนครใหม่โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ ศาสนาสถานบายน ยุคนี้เป็นยุคที่พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาสำคัญที่สุดแทนฮินดู นอกจากนี้ยังการสร้างโรงพยาบาลแห่งแรกขึ้นของภูมิภาคนี้อีกด้วยเรียกว่า อโรคยาศาลา โดยหลังจากยุคสมัยของพระองค์แล้ว อาณาจักรกัมพูชาก็ไม่สามารถกลับมาสร้างความรุ่งเรืองได้อีกครั้ง
อาณาจักรกัมพูชามีความรุ่งเรืองมากจนได้ชื่อว่าเป็นยุคสมัยของเมืองพระนครหรืออังกอเรียน ซึ่งถือเป็นยุคทองของดินแดนแห่งนี้ ความรุ่งเรืองของอาณาจักรมีร่องรอยความยิ่งใหญ่ปรากฏไว้ในรูปของสิ่งก่อสร้างเป็นซากปราสาทหินทั่วภูมิภาคจนได้ชื่อว่าดินแดนแห่งปราสาทจนถึงทุกวันนี้

ยุตสมัยที่เปลี่ยนแปลง
• ค.ศ. 1243 (พ.ศ. 1786) เกิดความแตกแยกทางศาสนา
พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กษัตริย์เขมรขณะนั้น หันมานับถือศาสนาฮินดู นิกายไศวนิกาย ได้สั่งทำลายรูปบูชาทางศาสนาพุทธจนเสียหายมาหมายทำให้เกิดความแตกแยกทางศาสนา
• ค.ศ. 1431 (พ.ศ. 1974) สยามเข้ายึดครอง
ยุคแห่งความรุ่งเรืองของเขมรต้องเสื่อมลงด้วยสงครามกับประเทศสยาม กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัด-นครธม) ถูกตีแตกถึง 3 ครั้งตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง พระราเมศวร และครั้งสุดท้าย ค.ศ. 1431 (พ.ศ. 1974) พระเจ้าสามพระยาตีแตกย่อยยับ นับแต่นั้นนครวัด-นครธมก็ล่มสลาย เขมรต้องย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองพนมเปญ การเสียกรุงศรียโสธรปุระ เปรียบได้กับการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อสยามเข้าปกครองเขมร อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เขมรถูกขนาบด้วยอิทธิพลทั้งสองด้านทั้งจากสยามทางตะวันตกและจากเวียดนามทางตะวันออก และการปรากฏตัวของชาติตะวันตกจึงเป็นจุดเปลี่ยนดุลอำนาจในยุคต่อไป
ยุคล่าอาณานิคม
• ค.ศ. 1786 – 1850 (พ.ศ. 2329 -2393) ขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส
จากการที่กัมพูชาต้องสู้รบกับไทยและเวียดนามสลับสับเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อถึงช่วงกลางรัชสมัยนักองด้วง จึงทรงขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสให้ช่วยปกป้องกัมพูชาจากไทยและเวียดนาม โดยแลกเปลี่ยนกับการยอมให้ฝรั่งเศสเข้ามาเปิดเมืองท่าแลค้าขายติดต่อ เมื่อฝรั่งเศสได้พบกับเมืองพระนครก็เล็งเห็นถึงความมั่งคั่ง แต่ยังไม่ทันที่ฝรั่งเศสจะตอบรับพระราชไมตรีกษัตริย์นักองด้วยก็เสด็จสวรรคต พระองค์นโรดมจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์
ใต้อำนาจฝรั่งเศส
• ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) จุดเริ่มฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา
องค์พระนโรดม เชื่อว่าการผูกมิตรกับฝรั่งเศสจะสามารถเรียกร้องดินแดนที่เสียไปคืนมาจากเวียดนามได้ จึงทำสัญญากับฝรั่งเศสแลกกับสัมปทานในการทำป่าไม้ สิทธิในการสำรวจแร่ รับประกันเสรีภาพในการเผยแผ่ศาสนาและการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาปกครองกัมพูชา ส่วนไทยก็ค่อยๆ หมดบทบาทไป ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) ฝรั่งเศสเริ่มเพิ่มอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง โดยละเลยและไม่ให้ความสนใจในการพัฒนากัมพูชาอย่างแท้จริงพ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองกัมพูชาไว้ แล้วปลดผู้ปกครองกัมพูชาที่เป็นชาวฝรั่งเศสและผู้นิยมฝรั่งเศสออกไป
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 กัมพูชาจึงต้องตกเป็นของฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาฝรั่งเศสมีภาระการต่อสู้ติดพันกับนักชาตินิยมในเวียดนาม จึงต้องหาทางประนีประนอมกับกัมพูชา โดยได้จัดทำสนธิสัญญาขึ้นเพื่อเปลี่ยนสภาพจากการที่กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นมาเป็นรัฐในอารักขาแห่งเครือจักรภพของฝรั่งเศส ในระยะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสได้เจ้าสีหนุเป็นกษัตริย์ปกครองกัมพูชา เมื่อญี่ปุ่นยึดกัมพูชาได้ จึงให้เจ้าสีหนุประกาศเอกราชเป็นอิสระจากฝรั่งเศส แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสจึงกลับเข้ามามีอำนาจในกัมพูชาเหมือนเดิม
กระแสชาตินิยมในกัมพูชา
• ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) ก่อตั้งขบวนการชาตินิยม
ฝรั่งเศสกดขี่ขูดรีดชาวกัมพูชาเป็นเวลานานและรุนแรงขึ้นเมื่อฝรั่งเศสปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและผลักภาระหนี้สงครามไปให้ชาวกัมพูชา ทำให้ชาวกัมพูชาลุกขึ้นประท้วง สังหารข้าหลวงฝรั่งเศส ก่อตั้งขบวนการเสรีนิยม ซึ่งเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นทั่วไปในอินโดจีน โดยมุ่งต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส
กัมพูชาเป็นชาติ
ขบวนการชาตินิยม ไม่ได้เกิดในการต่อต้านฝรั่งเศส แต่ต่อต้านญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เข้ามายึดครองกัมพูชา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ฝรั่งเศสจะพยายามเข้ามายึดครองอีก เจ้านโรดม สีหนุกษัตริย์กัมพูชา พยายามขอเอกราชจากฝรั่งเศสหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั้งฝรั่งเศสแพ้เวียดมินท์ ในการทำสงครามที่เบียนเดียนฟู จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ เวียดนาม ได้เอกราช จากอนิสงฆ์การชนะสงครามในครั้งนี้ทำให้ ลาวและ กัมพูชาพลอยได้เอกราชไปด้วย
ในปี พ.ศ. 2490 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูนและจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยเจ้าสีหนุประกาศยุบสภา ประกาศใช้กฎอัยการศึกและทำการปกครองกัมพูชาโดยตรงและได้เรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั่นที่ฝรั่งเศสกำลังเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสงครามกับเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ฝรั่งเศสจึงยอมให้เอกราชแก่กัมพูชาตามคำเรียกร้องของเจ้าสีหนุ
ปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954)กัมพูชา จึงได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเจนีวาพร้อม ๆ กับลาว และเวียดนาม หลังได้รับเอกราช ก็มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดย เจ้านโรดม สีหนุ เป็นประมุข
กัมพูชาต้องใช้เวลานานในการเรียกร้องความเป็นอิสระจากฝรั่งเศส โดยกัมพูชาเป็นชาติในยุคของ พระนโรดม สีหนุ เนื่องจากฝรั่งเศสมีศึกสงครามหลายด้าน จึงเป็นเหตุให้ฝรั่งเศสปลดปล่อยคืนเอกราชให้กับกัมพูชาในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2496 แต่กัมพูชาได้เอกราชสมบูรณ์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2496

ยุคเขมรแดง
กัมพูชาในยุดที่นายพอล พต คุมอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ. 2518-2522 ตกอยู่ในความรุนแรง เพื่อปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตนเอง ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอกประเทศ และไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับชาติใด ๆ โดดเดี่ยวประเทศออกจากอิทธิพลของต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ยกเลิกระบบธนาคาร ระบบเงินตรา ยึดทรัพย์สินจากเอกชนทั้งหมด
นายพอล พต เป็นคนที่คลั่งลัทธิซ้ายสุด ๆเชื่อว่าระบบสังคมนิยมจะนำกัมพูชาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนในอดีตได้ ดังนั้นเขาจึงมีแนวคิดว่า ประเทศควรจะอยู่อย่างสันโดษ ไม่ต้องเพิ่งวิทยาการเทคโนโลยีใด ๆ ขอให้มีข้าวกินก็อยู่ได้ เขาจึงกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิด นักศึกษาปัญญาชน แพทย์ วิศวกร นักปราชญ์ ศิลปิน ว่ากันว่าคนใส่แว่นสายตาที่ดูเหมือนมีความรู้ เป็นภัยต่อความมั่นคง ปกครองยาก จะถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล
เขมรแดง รู้จักกันในชื่อ “กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย” คือกองกำลังลัทธิคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่เคยปกครองราชอาณาจักรกัมพูชาซึ่งในขณะนั้นถูกเปลี่ยนชื่อกัมพูชาประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518-2522 เขมรแดงถือเป็นตัวแทนความสำเร็จเชิงอำนาจของพรรคการเมืองลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ที่ต่อมาได้พัฒนาเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา” และ “พรรคกัมพูชาประชาธิปไตย” รูปแบบการปกครองของเขมรแดงมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง “สังคมใหม่” โดยใช้รากฐานการปกครองแบบเผด็จการ มีชนชั้นกรรมาชีพเป็นตัวขับเคลื่อน สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือการกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆมาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบทส่วนข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา ก็จับตัวมาเพื่อขจัดทิ้งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหารเป็นจำนวนถึง 3 ล้านคน
การปกครองของเขมรแดงสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม พ.ศ.2521 เมื่อเวียดนามบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญพร้อมกับกองทัพปลดปล่อยกัมพูชาของนายฮุนเซ็นและชาวกัมพูชากลุ่มอื่นที่ต่อต้านเขมรแดง

 การเมืองการปกครอง

ระบอบการปกครอง กัมพูชามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการกำหนด ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ว่าพระมหากษัตริย์กัมพูชาต้องเป็นสมาชิก ของราชวงศ์อายุไม่น้อยกว่า 30 ปี และต้องสืบสายเลือดมาจาก กษัตริย์นโรดมหรือกษัตริย์ศรีสวัสดิ์เท่านั้น พระมหากษัตริย์ กัมพูชาองค์ปัจจุบัน (Head of State) คือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุณี(Preah Karuna Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2004 ภายหลังจากกษัตริย์นโรดม สีหนุพระราชบิดา ทรงสละราชสมบัติ
นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของฝ่ายรัฐบาล (Head of Government) มีวาระคราวละ 5 ปีนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน คือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเตโช ฮุน เซน (Sam Dech Akka Moha Sena Padei Techo Hun Sen) ซึ่งเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนาน ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยปกครองกัมพูชามาเป็นระยะเวลา กว่า 28 ปี
รูปแบบของรัฐ : กัมพูชามีลักษณะเป็นรัฐเดี่ยว โดยอำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ
• ฝ่ายบริหาร : ผู้นำของฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีจะต้อง มาจากกระบวนการเลือกตั้งและเป็นพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร โดยจะ ต้องมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาโดยตรง
พรรคการเมืองที่สำคัญของกัมพูชา
- พรรคประชาชนกัมพูชา CPP
- พรรคฟุนซินเปค FUNCINPEC
- พรรคสม รังสี SRP
• ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบรัฐสภาของกัมพูชาลักษณะแบบสภาคู่ (bicameral) ประกอบด้วย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาล่าง คือ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิก 123 คน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปีหรืออาจเป็นต่อไป ได้อีก 1 ปีในสัดส่วนประชากร 100,000 คนต่อสมาชิกสภา 1 ที่นั่ง
- ประธานสภาแห่งชาติ คือ สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธ์
- รองประธานสภาแห่งชาติ คือ สมเด็จเฮง สัมริน , นายงวล ยึล
• วุฒิสภา หรือสภาสูง10 : ประกอบด้วย สมาชิก 61 คน มาจากการเลือกตั้ง (กษัตริย์ทรงแต่งตั้ง 2 คน , มาจากการแต่งตั้งของสภาผู้แทนราษฎร 2 คน และที่เหลือมาจากการ เลือกตั้งโดยทางอ้อมผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภา ตำบล 57 คน) วุฒิสภามีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการ ร่างออกมาจากสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร และได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายเช่นเดียวกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปีมีการ ประชุมสมัยสามัญปีละ 2 ครั้ง
- ประธานวุฒิสภาแห่งชาติ คือ สมเด็จเจีย ซิม
- รองประธานวุฒิสภาแห่งชาติ คือ พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ์ ชีวันมณีรักษ์ , นายพอ บุน เสรอ
เขตการปกครอง
ปัจจุบันกัมพูชากำหนดให้มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 1 ราชธานี(พนมเปญ) และ 23 จังหวัด
การบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การปกครองในส่วน ภูมิภาคแบ่งออกเป็น จังหวัด กรุง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ทั้งนี้การบริหารงานของแต่ละหน่วยการปกครองจะต้องขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย (Ministry of the Interior) โดยแต่ละจังหวัด/กรุงจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่าราชการกรุง กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด/กรุงอีก 7-9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล (คราวละ 5 ปี)
ราชธานี จำนวน 1 ราชธานี จังหวัด (เขต) จำนวน 23 จังหวัด อำเภอ (สะร็อก) จำนวน 159 อำเภอ ตำบล (คุ้ม) จำนวน 1,633 ตำบล หมู่บ้าน (ภูมิ) จำนวน 14,073 หมู่บ้าน กรุง (กรุง) จำนวน 3 กรุง โดยกรุงจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นขัณฑ์(เท่ากับเขตของไทย) ขัณฑ์ยังแบ่งย่อยออกเป็นสังกัด (เท่ากับแขวงของไทย)
ตำแหน่งทางการปกครอง
ผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่า อภิบาลเขต หรือ อภิบาลกรุง นายอำเภอ เรียกว่า อภิบาลสะร็อก หรือ อภิบาลขัณฑ์ กำนัน เรียกว่า เมคุม หรือ ประธานคุม หรืออภิบาลสังกัด
ผู้ใหญ่บ้าน เรียกว่า เมภูมิหรือ ประธานภูมิ
โดยตั้งแต่ปีค.ศ. 2002 เป็นต้นมา รัฐบาลกัมพูชาได้มีนโยบายที่จะการกระจายอำนาจให้กับการปกครองท้องถิ่น โดยได้อนุญาตให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

 ประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชา

กัมพูชาเป็นประเทศที่มีความยาวนานทางประวัติศาสตร์เป็นเวลากว่าสองพันปี โดยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในยุคแรกของประวัติศาสตร์กัมพูชาก็ปรากฏถึงอาณาจักรที่รางเรืองทางการค้าขายคือ อาณาจักรฟูนัน จึงทำให้กัมพูชาได้รับอิทธิพลจากหลายชนชาติมาผสมผสาน หลากหลายยุคสมัยของกัมพูชาจนถึงปัจจุบัน โดยภาพรวมแล้ววัฒนธรรมของกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับชนชาติไทยพอสมควร อาทิ ด้านศาสนา การแต่งกาย อาหาร ฯลฯ
กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่มีประเพณีอันยาวนานมากชาติหนึ่ง โดยประเพณีได้สืบทอดต่อกันมากว่าร้อยปีโดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเพณีบุญพะจุมเบ็ญ

เป็นบุญประเพณีหนึ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งสมัยโบราณและยังปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้ บุญพะจุมเบ็ญจัดขึ้นในเดือนสิบ โดยใช้ในการจัด15วัน การทำบุญพะจุมเบ็ญนี้เพื่ออุทิศกุศลไปให้บุพการีชนที่ได้ลาจากโลกนี้ไปแล้วไปเกิดที่ใหม่ โดยญาติๆที่เป็นลูกหลานพากันทำอาหารไปถวายพระสงฆ์ มีขนมหลายๆอย่างด้วย การทำบุญนี้ก็ต้องจัดทำเป็นกลุ่มๆของคนในหมู่บ้าน หรือตำบล โดยเริ่มจากกลุ่มแรกจนถึงกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่13(ไม่นับวันแรกและวันสุดท้ายของพิธี เพราะวันแรกทำพร้อมกัน และวันสุดท้ายก็ทำพร้อมกัน) จำนวนคนในกลุ่มก็แล้วแต่จำนวนประชากรในหมู่บ้านหรือตำบลนั้นๆในช่วงการจัดงาน ยามเกือบสว่างประมาณตี 3-4 จะมีคนที่ตื่นมาเพื่อเอาข้าวที่เตรียมไว้เป็นก้อนๆเรียกว่า บายเบ็ญ พากันไปเดินรอบๆศาลาแล้วโยนไปตามรอบๆศาลานั้นและอธิฐานเพื่อให้ข้าวที่โยนลงไปนั้นได้ไปถึงบุญการีชนที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยคนส่วนมากคิดว่าคนที่เสียไปแล้วอาจไปเกิดเป็นเปรตหรือสัตว์ต่างๆ ที่ไม่ค่อยจะมีอะไรกิน เพราะฉะนั้นการโยนก้อนข้าว หรือ บายเบ็ญไปให้นั้นเพื่อให้คนเหล่านั้นได้รับไปบริโภคในยามอดอยากอีกด้วย เรื่องบุญพะจุมเบ็ญนี้มีการเล่าถึงตั้งแต่สมัยโบราณ หรือสมัยพระพุทธเจ้าอีกด้วย

เทศกาลน้ำหรือ บอน อม ตุก

เทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนเพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระคุณของ แม่น้ำที่นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ โดยจะมีการแข่งเรือยาว แสดงพลุดอกไม้ไฟ การ แสดงขบวนเรือประดับไฟ เและขบวนพาเหรด บริเวณทะเลสาบ "โตนเลสาบ" ที่จัดขึ้น ทุกปีตั้งแต่ วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน ซึ่งทางการกัมพูชา ประกาศให้เป็น วันหยุด 3 วัน เพราะน้ำในแม่น้ำโขงเมื่อขึ้นสูง จะไหลไปที่ทะเลสาบ เนื่องจากในช่วงปลาย ฤดูฝนในเดือนพฤศจิกายน น้ำในทะเลสาบลดต่ำลง ทำให้น้ำไหลลง กลับสู่ลำน้ำโขงอีกครั้ง ชาวกัมพูชาจะร่วมกันลอยทุ่นที่ประดับด้วยดวงไฟ ไปตาม แม่น้ำโขง ขณะที่การแข่งเรือ เป็นการรำลึก ถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้า ชัยวรมันที่ 7 ช่วงศตวรรษที่ 12 ในยุคเมืองพระนคร อาณาจักรเขมรที่กำลังรุ่งเรืองมีชัย เหนืออาณาจักรจาม ในการสู้รบ ทางเรือ

ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดียวกับประเพณีแข่งเรือ คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยชาวกัมพูชาถือว่าการจุดเทือนในกระทงนั้นเปรียบเสมือนแสงสว่างนำทางให้ชีวิตนั้นได้พบเจอแต่สิ่งที่ดีงามและขจัดสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากชีวิต
อีกด้วย

ประเพณีวันเทศนามหาชาติ

การเทศนามหาชาตินั้นถือเป็นประเพณีทางศาสนาโดยริเริ่มมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่สภาพอากาศดีไม่มีฝนและที่สำคัญคือช่วงนั้นชาวบ้านได้เสร็จจากการทำไร่ทำนา จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด โดยประเพณีนี้มีจุดประสงค์ คือ การระลึกถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้สั่งสอนแก่ชาวโลกให้รู้ผิดชอบชั่วดีหรือบาปบุญคุณโทษ

ประเพณีเข้าพรรษา

ประเพณีเข้าพรรษาเป็นประเพณีทางศาสนาโดยมีระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝนโดยเริ่มจากเดือนสิงหาคม ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรมและไม่เป็นการลำบากต่อสมณะในการเดินทางของพระสงฆ์ ประเพณีของกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากอดีตหลากหลายปัจจัย อาทิ ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ โดยได้รับการประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวกัมพูชา

ศิลปวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชา
ระบำอัปสรา

เป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่โดดเด่นของกัมพูชา ซึ่งถอดแบบการแต่งกายและท่าร่ายรำมาจากภาพจำหลักรูปนางอัปสรที่ปราสาทนครวัด นางอัปสราตัวเอกองค์แรก คือ เจ้าหญิงบุพผาเทวี พระราชธิดาในเจ้าสีหนุ เป็นระบำที่กำเนิดขึ้นเพื่อ เข้าฉากภาพยนตร์เกี่ยวกับนครวัดที่กำกับโดย Marchel Camus ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า L"Oiseau du Paradis ก็คือ The Bird of Paradise หลังจากนั้นระบำอัปสราก็เป็นระบำขวัญใจชาวกัมพูชาใครได้เป็นตัวเอกในระบำอัปสรานั้นเชื่อได้ว่า เป็นตัวนางชั้นยอดแห่งยุคสมัยนครวัดเป็นอุดมคติแห่งชาติกัมพูชานางอัปสราในนครวัดก็เป็นอุดมคติแห่งสตรีเขมร ดังนั้นการชุบชีวิตนางอัปสราออกมาเป็น ระบำระดับชาตินั้นมีความหมายในเชิงชาติพันธุ์นิยม เพื่อให้เข้าถึงสัญลักษณ์สูงสุดแห่งสตรีแขมร์ ระบำอัปสรามีชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการอิงบนความยิ่งใหญ่ของนครวัดและระบำอัปสราก็จำลองภาพสลักที่แน่นิ่งไร้ความเคลื่อนไหวในนครวัดให้หลุดออกมามีชีวิต ดอกไม้เหนือเศียรนางอัปสราส่วน ใหญ่ในปราสาทนครวัดคือ ดอกฉัตร พระอินทร์ เนื่องจากรูปทรงของดอกชนิดนี้พ้องกันกับภาพสลัก เขมรเรียกดอกไม้ชนิดนี้ ว่า "ดอกเสนียดสก" เสนียด คือสิ่งที่เอามาเสียด และสก คือผม ชื่อของดอกไม้บ่งบอกว่าเป็นดอกสำหรับเสียดผม เข้าใจว่าสมัยโบราณสตรีชั้นสูงของเขมรคงประดับศีรษะด้วยดอกไม้หลายชนิดหนึ่งในนั้นคือดอกฉัตรพระอินทร์ ดังหลักฐานภาพสลักนางอัปสราที่พบในปราสาทหินขอมซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของช่างสลักจากที่ได้เห็นของจริง

 ภูมิศาสตร์กัมพูชา

กัมพูชาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ติดกับทะเลอ่าวไทย มีพรมแดนติดกับลาว ไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 181,040 ตารางกิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน อยู่ในเขตร้อนชื้น ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบ ใจกลางของประเทศเป็นทะเลสาบเขมร และมีแม่น้ำโขงไหลผ่านจากเหนือไปใต้ ประเทศกัมพูชามีลักษณะคล้ายอ่าง โดยตรงกลางเป็นแอ่งทะเลสาบและลุ่มแม่น้ำโขงอันกว้างขวาง ซี่งจะมีภูเขาล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน และประเทศกัมพูชานั้นมีแม่น้ำสำคัญต่างๆได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำทะเลสาบ แม่น้ำบาสัก ทะเลสาบโตนเลสาบ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประมาณร้อยละ 75 เป็นที่ราบรอบทะเลสาบเขมรและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ติดต่อกับเวียดนามและทะเลจีนใต้ ทางตะวันตกเฉียงใต้เป็นเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาดมเร็ย ทางเหนือคือเทือกเขาพนมดงรัก ทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่สูงเชื่อมต่อกับที่ราบสูงในภาคใต้ของเวียดนาม
บริเวณภาคกลางของประเทศ จะมีระดับพื้นดินที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 30 เมตร เริ่มตั้งแต่พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดพระตะบอง ไปถึงกำปงธม ไปรเวียง สวายเวียง และตาแก้ว ทางตอนใต้จดเขตแดนเวียดนาม แบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ลักษณะคือ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ทะเลสาบ บริเวณที่ลุ่มลำคลอง หนองบึง บริเวณที่ทำนา และบริเวณเนินเขาขนาดเล็ก
ส่วนที่ราบสูงภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่จังหวัดกระแจะ สตึงเตรง และรัตนคีรี ต่อจากที่ราบลุ่มภาคกลาง พื้นที่ค่อย ๆ สูงขึ้นตามลำดับ จนสูงกว่า 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล แบ่งออกเป็นสามตอนคือ บริเวณที่ราบสูงตอนเหนือ ในเขตจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ กัมปงธม มีภูเขาผ่านกลางบริเวณเป็นภูเขาลูกโดด ๆ

บริเวณที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ที่อยู่ในเขตจังหวัดสตึงเตรง กระแจะ จะถูกแยกจากที่ราบสูงภาคเหนือด้วยแม่น้ำโขง พื้นที่แถบบริเวณรี้จะเป็นเนินเขาดินทั่วไป

มีอากาศมรสุมเขตร้อนเป็นแบบร้อนชื้น ฤดูฝนจะเริ่มจากเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูแล้งจะเริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน และในช่วงเดือนเมษายนจะมีอุณหภูมิสูงที่สุด แต่ในช่วงเดือนมกราคมมีอุณหภูมิต่ที่สุด และในช่วงเดือนตุลาคมมีฝนตกชุกที่สุด ประเทศกัมพูชานั้นเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล
ลักษณะภูมิอากาศอยู่ในเขตมรสุม แบ่งเป็น 2 ฤดูชัดเจนคือฤดูฝนและฤดูแล้ง อากาศค่อนข้างร้อนและมีความชื้นสูง อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 20 - 36 องศาเซลเซียส พื้นที่ป่ามีประมาณสองในสามของประเทศ นับว่าประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากที่สุดหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันป่าไม้ลดลงอย่างมากหลังจากที่รัฐบาลเปิดให้สัมปทานป่ากับบริษัท เอกชนจากต่างประเทศ ส่วนทางด้านภูเขานั้นกัมพูชามีภูเขาที่มียอดเขาสูงที่สุดของกัมพูชาคือ ยอดเขาพนมอาออรัล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,813 เมตรทิศเหนือของกัมพูชามีเขตแดนติดกับประเทศไทยระยะทางยาว 750 กิโลเมตร ติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด นอกจากนี้กัมพูชายังมีเทือกเขาที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่

• เทือกเขาบรรทัดทางตะวันตกเฉียงใต้มีความสูงมากกว่า 1,500 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดของกัมพูชาคือยอดเขาพนมเอารัล สูง 1,771 เมตร อยู่ทางตะวันออกของเทือกเขานี้ เทือกเขาดมเร็ยเป็นเทือกเขาที่ต่อมาจากเทือกเขาบรรทัดทางใต้และตะวันออก เฉียงใต้ สูงระหว่าง 500 - 1,000 เมตร เทือกเขาทั้งสองนี้เป็นแนวพรมแดนด้านตะวันตก ทำให้เกิดที่ราบแคบๆซึ่งประกอบด้วยอ่าวกำปงโสมที่ออกสู่อ่าวไทย บริเวณนี้ค่อนข้างโดดเดี่ยว จนกระทั่งมีการสร้างท่าเรือที่กำปงโสมและมีการสร้างถนนและทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกำปงโสม กำปอต ตาแกว และพนมเปญเข้าด้วยกันเมื่อราว พ.ศ. 2503
• เทือกเขาพนมดงรักเป็นเทือกเขาทางเหนือของกัมพูชามีความสูงโดยเฉลี่ย 500 เมตร โดยจุดที่สูงที่สุดสูงกว่า 700 เมตร อยู่ขอบด้านทิศใต้ของที่ราบสูงโคราชใน ไทย เทือกเขานี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา จุดผ่านเทือกเขาที่สำคัญคือจุดโอเสม็ด ซึ่งเชื่อมต่อภาคเหนือของกัมพูชากับภาคอีสานของไทย
• หุบเขาในเขตแม่น้ำโขงเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อระหว่างกัมพูชาและลาว และเป็นส่วนที่แบ่งระหว่างเทือกเขาพนมดงรักทางตะวันออกและที่สูงทางตะวันออก เฉียงเหนือ พื้นที่ที่ต่ำลงมาเชื่อมต่อกับที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่แผ่ ขยายไปสู่เวียดนาม ทำให้มีการติดต่อระหว่างดินแดนทั้งสองโดยสะดวก
แม่น้ำส่วนใหญ่ในกัมพูชาส่วนมากจะไหลลงสู่ทะเลสาบเขมรหรือแม่น้ำโขงตามเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาดมเร็ย ทำให้เกิดระบบแม่น้ำที่แยกออกจากกันโดยมีลักษณะที่ความแตกต่างกันไป โดยทางตะวันตก น้ำไหลลงสู่อ่าวไทย ส่วนทางตะวันออกไหลลงสู่ทะเลสาบทางใต้ของเทือกเขาดมเร็ย มีแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลไปทางใต้แล้วลงสู่ภาคตะวันออก นอกจากนี้กัมพูชายังมีแม่น้ำและทะเลสาบสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. แม่น้ำโขง ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขตเวียดนาม มีความยาวในเขตกัมพูชารวม 500 กิโลเมตร
2. แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ ความยาว 130 กิโลเมตร
3. แม่น้ำบาสัก (Bassac) เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว 80 กิโลเมตร
4. ทะเลสาบโตนเลสาบ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 100 กิโลเมตร ฤดูน้ำหลากน้ำท่วมถึง 7,500 ตารางกิโลเมตร ลึกถึง 10 เมตร โตนเลสาบครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ ในโตนเลสาบมีปลาชุกชุมกว่า 300 ชนิด
ทรัพยากรธรรมชาติ
กัมพูชามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีสินแร่ชนิดต่าง ๆ อยู่ทั่วไป เช่น ทอง ทองแดง แร่เหล็ก แมงกานิส ถ่านหิน วุลแฟรม ฟอสฟอรัส พลอย เงิน ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี หินอ่อน ฯลฯ
• แร่เหล็กพบมากตามเทือกเขาพนมดงรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดพระวิหาร สตึงเตรง อุดรมีชัย และพระตะบอง
• แมงกานิสมีมากที่จังหวัดพระวิหาร ถ่านหินส่วนมากอยู่ที่จังหวัดสตึงเตรง
• พลอย (ทับทิมและไพลิน) ส่วนมากอยู่ที่จังหวัดพระตะบอง พระวิหาร เกาะกง รัตนคีรี และกรุงไพลิน
• ทอง ค้นพบที่บ่อซ็อมตร็อบ จังหวัดเสียมเรียบ พนมกำโบร์ จังหวัดอุดรมีชัย พนมแดก จังหวัดพระวิหาร
• บอกไซท์ ค้นพบในจังหวัดพระตะบอง และมณฑลคีรี
• แร่เงิน มีที่บ่อซ็อมตร็อบ และพนมกำโบร์ จังหวัดอุดรมีชัย และสำโรง จังหวัดกัมปงสะปือ
ทั้งนี้ สินแร่ต่าง ๆ ของกัมพูชามีค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อาณาบริเวณที่มีสินแร่หลากหลายชนิดกระจุกตัวอยู่ คือ ภาคเหนือของจังหวัดสตึงเตรง และเขาพระวิหาร จังหวัดไพลิน จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดโพธิสัต มีพลอย เงิน และทองกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ โดยเฉพาะที่จังหวัดไพลินมีพลอยไพลินกระจุกอยู่หนาแน่น นอกจากนี้ กัมพูชายังมีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยกัมพูชามีแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ อีกทั้งยังคาดว่าจะพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนหนึ่งบริเวณโตนเลสาบ
ส่วนทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อาทิ ป่าไม้ (ครอบคลุมพื้นที่ราวร้อยละ 35-62 ของพื้นที่ทั้งประเทศ) บริเวณที่ป่าไม้หนาแน่น คือ เทือกเขาบรรทัดทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ไม้ชิงชัน ไม้มะค่า ไม้พะยูน ไม้เต็ง ไม้แดง และไม้ยาง
ทั้งนี้กัมพูชามีแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นระยะทาง 443 กิโลเมตร จึงเป็นแหล่งที่มีสัตว์น้ำชุกชุม นอกจากนี้บริเวณโตนเลสาบ (Tone Sap) หรือทะเลสาบเขมร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่บริเวณ ตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จนกลายเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจและ สังคมของกัมพูชา และเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญซึ่งเชื่อมโยงระหว่างกรุงพนมเปญไปยัง จังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดโพธิสัตว์ จังหวัดกำปงชนัง และจังหวัดกำปงธม ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งโดยรอบโตนเลสาบ ประกอบกับความโดดเด่นของโตนเลสาบในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ ที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีพันธุ์ไม้และสัตว์บางชนิดที่พบเห็นได้เฉพาะบริเวณโตนเลสาบเท่านั้น

 เศรษฐกิจของกัมพูชา

กัมพูชาอยู่ในช่วงที่กำลังเร่งรัดในการที่จะพัฒนาประเทศของตนให้ดียิ่งขึ้น จึงส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชานั้นขยายตัวอย่างรวดเร็วเฉลี่ยราวร้อยละ 8 ต่อปี ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศได้หลั่งไหลเข้าสู่กัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ และยังอาจจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวกัมพูชาอีกด้วย
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของกัมพูชา เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถตอบสนองการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเครื่องจักรทางการเกษตร และ อุตสาหกรรมอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งปัจจัยต่างๆ ล้วนส่งผลให้ พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคของชาวกัมพูชานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยชาวกัมพูชาเริ่มมีความต้องการที่จะเลือกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากยิ่งขึ้น ได้แก่
รถยนต์ใหม่ โทรศัพท์มือถือ และ สินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ
การที่เศรษฐกิจของกัมพูชานั้นได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้ชาวกัมพูชามีฐานะที่ดีเพิ่มมากขึ้น โดยชาวกัมพูชาที่มีฐานะที่ดีขึ้นมักจะซื้อรถยนต์คันใหม่ ยี่ห้อหรูและมีราคาแพงที่เหมาะกับฐานะของตน อาทิ BMW, AUDI หรือ PORSCHE แทนรถยนต์มือสองที่ชาวกัมพูชานิยมใช้โดยทั่วไป นอกจากนี้ ชาวกัมพูชาฐานะดียังนิยมซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ โดยนิยมซื้อรุ่นที่เป็น New Arrival จึงทำให้ชาวกัมพูชาหันมาเดินห้างสรรพสินค้าเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากขึ้น
เครื่องใช้ไฟฟ้า
เนื่องจากชาวกัมพูชาที่มีฐานะที่ดีมีจำนวนมากขึ้น ทำให้พวกเค้าอยากจะยกระดับการกินการอยู่ของตนให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกนั้นมีจำนวนที่สูงขึ้น อาทิ เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และ ตู้เย็น เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
ชาวกัมพูชากว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ล้วนเป็นเป็นวัยหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเป็นวันที่กำลังรักสวยรักงาม ส่งผมให้ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาทิ แป้ง ลิปสติก รองพื้น และเครื่องสำอางต่างๆมียอดขายที่มากขึ้น โดยชาวกัมพูชายึดหลัก “ยิ่งขาว ยิ่งสวย” และชอบใช้ผลิตภัณฑ์ที่เห็นผลทันที จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สารกันแดดมียอดขายที่สูงขึ้นเช่นกัน

อาชีพและสินค้าส่งออกของชาวกัมพูชา

1. เกษตรกรรม : ประชากรของกัมพูชา ประมาณร้อยละ 70 มีอาชีพเพาะปลูก พืชสำคัญที่ปลูก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วชนิดต่างๆ ยางพารา ยาสูบ พริกไทย
2. ปศุสัตว์ : ส่วนใหญ่มีการเลี้ยงไว้เพื่อใช้งานและบริโภค
3. การประมง : มีการจับปลาน้ำจืดในทะเลสาบเขมร โดยมีชาวประมงกว่า 30,000 คน ที่ประกอบอาชีพประมงในทะเลสาบนี้ แต่ปัจจุบันมีการจับปลาน้อยลงเนื่องจากขาดการอนุรักษ์สัตว์น้ำที่ดี
4. การทำป่าไม้ : มีการแปรรูปไม้และส่งเป็นสินค้าส่งออกของประเทศ
5. แร่ธาตุ : แร่ธาตุชนิดต่างๆของกัมพูชานั้นค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อาณาบริเวณที่มีแร่ธาตุหลากหลายชนิดอยุ่มากนั้น คือ ภาคเหนือในจังหวัดสตึงแตรงกับเขาพระวิหาร กรุงไพลิน จังหวัดพระตะบอง และยังมีแร่เหล็กที่เทือกเขาพนมดงรัก แร่ฟอสเฟตใกล้เมืองพระตะบองและกำปอต เป็นต้น
6. อุตสาหกรรม : การอุตสาหกรรมของประเทศกัมพูชามีการทอผ้าพื้นเมืองการทำปลาแห้งและปลากรอบ การทำเหมืองแร่ และมีโรงสี โรงเลื่อย
7. สินค้าส่งออก : สินค้าส่งออกที่สำคัญมีไม้ สิ่งทอ เสื้อผ้า ยางพารา ถั่วเหลือง พริกไทย รองเท้า ปลากรอบ ข้าว gเป็นต้น


 เขตการปกครอง ปัจจุบันกัมพูชากำหนดให้มีการแบ่งเขตการปกครอง
   ออกเป็น 1ราชธานี(พนมเปญ) และ 24 จังหวัด ได้แก่
1. จังหวัดกระแจะ (Kratie)
2. จังหวัดเกาะกง (Koh Kong)
3. จังหวัดกันดาล (Kandal)
4. จังหวัดกัมปงจาม (Kampong Cham)
5. จังหวัดกัมปงชนัง (Kampong Chhnang)
6. จังหวัดกัมปงธม (Kampong Thom)
7. จังหวัดกัมปงสะปือ (Kampong Speu)
8. จังหวัดกัมปอต (Kampot)
9. จังหวัดตาแก้ว (Tek’eo)
10. จังหวัดรัตนคีรี(Ratanakiri)
11. จังหวัดพระวิหาร (Preah Vihear)
12. จังหวัดพระตะบอง (Battambang)
13. จังหวัดตบูงขมุม(Tabungkamum)
14. จังหวัดโพธิสัต (Pursat)
15. จังหวัดบันเตียเมียนเจย (Banteay Meanchey)
16. จัดหวัดไปรเวง (Prey Veng)
17. จังหวัดมณฑลคีรี (Mondulkiri)
18. จังหวัดสตึงเตรง (Stung Treng)
19. จังหวัดสวายเรียง (Svay Rieng)
20. จังหวัดเสียมราฐ (Siem Reap)
21. จังหวัดอุดรมีชัย (Oddar Meancheay)
22. จังหวัดไพลิน (Pailin)
23. จังหวัดแกบ (Kep)
24. จังหวัดพระสีหนุ(Sihanouk/KampongSom)